เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [2. โพชฌังคสังยุต]
1. ปัพพตวรรค 6. กุณฑลิยสูตร

6. กุณฑลิยสูตร
ว่าด้วยกุณฑลิยปริพาชก

[187] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าอัญชนวัน สถานที่
พระราชทานอภัยแก่หมู่เนื้อ เขตเมืองสาเกต ครั้งนั้น กุณฑลิยปริพาชกเข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึก
ถึงกันแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ท่านพระโคดม
ข้าพเจ้าเที่ยวไปในอาราม เข้าไปหาบริษัท เมื่อข้าพเจ้าบริโภคอาหารเช้าเสร็จแล้ว
ในเวลาหลังอาหารเดินเที่ยวไปทางอารามสู่อาราม ทางอุทยานสู่อุทยาน ณ ที่นั้น
ข้าพเจ้าเห็นสมณพราหมณ์ พวกหนึ่งกำลังกล่าวกถาซึ่งมีวิธีเปลื้องวาทะเป็น
อานิสงส์และมีวิธีโต้วาทะเป็นอานิสงส์ ส่วนท่านพระโคดมมีอะไรเป็นอานิสงส์อยู่”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “กุณฑลิยะ ตถาคตมีวิชชาและวิมุตติเป็นผลานิสงส์”
“ท่านพระโคดม ธรรมเหล่าไหนที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ทำวิชชาและ
วิมุตติให้บริบูรณ์”
“กุณฑลิยะ โพชฌงค์ 7 ประการที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ทำวิชชา
และวิมุตติให้บริบูรณ์”
“ท่านพระโคดม อนึ่ง ธรรมเหล่าไหนที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ทำโพชฌงค์
7 ประการให้บริบูรณ์”
“กุณฑลิยะ สติปัฏฐาน 4 ประการที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ทำโพชฌงค์
7 ประการให้บริบูรณ์”
“ท่านพระโคดม อนึ่ง ธรรมเหล่าไหนที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ทำ
สติปัฏฐาน 4 ประการให้บริบูรณ์”
“กุณฑลิยะ สุจริต 3 ประการที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ทำสติปัฏฐาน 4
ประการให้บริบูรณ์”
“ท่านพระโคดม อนึ่ง ธรรมเหล่าไหนที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ทำสุจริต
3 ประการให้บริบูรณ์”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 19 หน้า :120 }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [2. โพชฌังคสังยุต]
1. ปัพพตวรรค 6. กุณฑลิยสูตร

“กุณฑลิยะ อินทรียสังวรที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ทำสุจริต 3 ประการ
ให้บริบูรณ์
อินทรียสังวรที่บุคคลเจริญอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงทำสุจริต 3
ประการให้บริบูรณ์
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เห็นรูปที่น่าชอบใจทางตาแล้ว ไม่หลงใหล ไม่เพลิด
เพลินรูปที่น่าชอบใจ ไม่ให้เกิดความกำหนัด กายของเธอก็คงที่ และจิตที่คงที่ใน
ภายในก็มั่นคงดี หลุดพ้นดีแล้ว อนึ่ง เธอเห็นรูปที่ไม่น่าชอบใจทางตาแล้ว ก็ไม่
เก้อเขิน มีจิตไม่ติดอยู่ ไม่เสียใจ มีใจไม่พยาบาท ทั้งกายของเธอก็คงที่ และจิต
ที่คงที่ในภายในก็มั่นคงดี หลุดพ้นดีแล้ว
อีกประการหนึ่ง ภิกษุฟังเสียงทางหู ฯลฯ ดมกลิ่นทางจมูก ... ลิ้มรสทางลิ้น
... ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย ... รู้แจ้งธรรมารมณ์ที่น่าชอบใจทางใจแล้ว ไม่หลงใหล
ไม่เพลิดเพลิน ไม่ให้เกิดความกำหนัด กายของเธอก็คงที่ และจิตที่คงที่ในภายในก็
มั่นคงดี หลุดพ้นดีแล้ว อนึ่ง เธอรู้แจ้งธรรมารมณ์ที่ไม่น่าชอบใจทางใจแล้ว ก็ไม่
เก้อเขิน มีจิตไม่ติดอยู่ ไม่เสียใจ มีใจไม่พยาบาท ทั้งกายของเธอก็คงที่ และจิต
ที่คงที่ในภายในก็มั่นคงดี หลุดพ้นดีแล้ว
เพราะเหตุที่ภิกษุเห็นรูปทางตาแล้ว มีกายคงที่ และมีจิตที่คงที่ในภายใน
มั่นคงดี หลุดพ้นดีแล้วในรูปทั้งที่น่าชอบใจและไม่น่าชอบใจ ฟังเสียงทางหู ฯลฯ ดม
กลิ่นทางจมูก ... ลิ้มรสทางลิ้น ... ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย ... รู้แจ้งธรรมารมณ์
ทางใจแล้ว มีกายคงที่ และมีจิตที่คงที่ในภายในมั่นคงดี หลุดพ้นดีแล้วในธรรมที่
น่าชอบใจและไม่น่าชอบใจ
อินทรียสังวรที่บุคคลเจริญอย่างนี้แล ทำให้มากแล้วอย่างนี้ จึงทำสุจริต 3
ประการให้บริบูรณ์
สุจริต 3 ประการนั้นที่บุคคลเจริญอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงทำ
สติปัฏฐาน 4 ประการให้บริบูรณ์
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ละกายทุจริต เจริญกายสุจริต ละวจีทุจริต เจริญ
วจีสุจริต ละมโนทุจริต เจริญมโนสุจริต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 19 หน้า :121 }